วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ประวัติ การปั้นและแกะสลักเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

เครื่องปั้นดินเผา (เกาะเกร็ด)
ประวัติความเป็นมา
   การทำเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี สืบทอดมาจากบรรพบุรุษชนชาติมอญที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สันนิษฐานว่าคงจะมีอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผามาตั้งแต่อยู่เมืองมอญก่อนที่จะอพยพเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งมีความชำนาญในด้านนี้โดยเฉพาะ เมื่อชาวมอญได้รับพระบรมราชานุญาตตั้งบ้านเรือนบริเวณปากเกร็ด และพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพดินที่เหมาะสม คือ ดินมีความเหนียวดี สีนวลหรือปนเหลือง ไม่ดำเกินไป เนื้อดินจับกันเป็นก้อน ไม่ร่วนซุย เป็นดินที่พบได้บริเวณเกาะเกร็ด ซึ่งเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียง คือ หม้อน้ำลายวิจิตร ซึ่งทำขึ้นเพื่อถวายพระสงฆ์ และเป็นของกำนัลให้แก่ผู้ใหญ่ ทางราชการจึงถือเอาหม้อน้ำลายวิจิตรเป็นตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดนนทบุรี
นอกจากนี้ยังมีรูปทรงอื่นๆอีกมากมาย เช่น โอ่ง อ่าง ครก กระปุก โอ่งพลู เป็นต้น หรือมีการพัฒนารูปแบบใหม่ เช่น โคมไฟดินเผาแกะสลัก เตาน้ำมันหอมระเหยแกะสลัก หม้อขมิ้นแกะสลัก แก้วกาแฟแกะสลัก ที่กรวดน้ำแกะสลัก เป็นต้น
   เครื่องปันดินเผาเกาะเกร็ด เกือบจะสูญหายไปเนื่องจากปัญหาน้ำท่วม ในราวปี พ.ศ. 2539 ชาวบ้านได้รวมตัวขึ้นอีกครั้งเพื่อรักษาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ประกอบกับในขณะนั้นนักท่องเที่ยวได้เข้ามาท่องเที่ยวบริเวณเกาะเกร็ด จึงทำให้เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ดได้รับความนิยมขึ้นอีกครั้ง และในปัจจุบันเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ดได้พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัยมากขึ้น ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์มีมูลค่าเพิ่มเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นด้วย
   เครื่องปั้นดินเผาของชาวมอญเกาะเกร็ดในอดีตมี ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่ทำขึ้นไว้ใช้เองและไว้ขาย  และเครื่องใช้ประเภทสวยงามที่ทำขึ้นเป็นพิเศษเพื่อมอบให้บุคคลสำคัญหรือไว้ใช้เองในโอกาสพิเศษ ปัจจุบันจะทำเครื่องปั้นดินเผาประเภทของใช้ในครัวเรือนเพื่อจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไปและของใช้ประเภทสวยงามต่างๆเพื่อจำหน่ายเป็นของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยวอีกประเภทหนึ่ง
   เครื่องปั้นดินเผาบ้านเกาะเกร็ดทำสืบทอดต่อกันมานานนับร้อยปี เป็นเครื่องปั้นดินเผาประเภทเนื้อเครื่องดินไม่เคลือบมีความพรุนตัวมาก ( Earthenware ) สีส้มอ่อนจนถึงสีแดงที่เป็นสีดำมีบ้างเล็กน้อย เครื่องปั้นดินเผาสีดำนี้ดินที่ใช้ปั้นจะผสมแกลบลงไปในเนื้อดินและเผาด้วยไฟแรงสูงมาก รูปทรงได้สัดส่วนสวยงามทั้งเครื่องปั้นดินเผาขนาดใหญ่และขนากเล็กจะตกแต่งลวดลายอย่างวิจิตร ด้วยอุปกรณ์ในการตกแต่งลวดลายซึ่งชาวมอญเกาะเกร็ดตั้งแต่ครั้งโบราณจะนำเอา หนามทองหลางป่า มาแกะเป็นลายสวยงามใช้เป็น แม่ลาย สำหรับกดลงบนผิวภาชนะให้เกิดลาดลายสวยงามตามแม่ลาย  นับเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นไม่เหมือนที่ใดและจากลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์ของหม้อน้ำดินเผาที่เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี จึงเลือกหม้อน้ำดินเผาแกะสลักลายของเกาะเกร็ดเป็นตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัด
   ลักษณะเครื่องปั้นดินเผาของชาวมอญเกาะเกร็ดที่ถือว่าสวยงามโดยทั่วไปขอบปากจะกลมกลึงเหมือนกระบอกไม้ไผ่ผ่าครึ่ง ไหล่ผายออกลาดโค้งลงมาที่ก้น ทำเส้นลวดลายเน้นที่ขอบและไหล่เครื่องปั้น ตกแต่งลวดลายที่ผิวภาชนะตั้งแต่ไหล่จนถึงก้นมักจะไม่ปล่อยให้มีพื้นที่ว่าง  โดยเฉพาะภาชนะก้นกลมจะฉลุลวดลายอย่างวิจิตรงดงามด้วย ส่วนภาชนะก้นตัดซึ่งสามารถตั้งได้โดยไม่ต้องใช้ขารองจะเน้นลวดลายที่ก้นเป็นพิเศษ นอกจากลวดลายที่ไหล่และก้นแล้วที่ฝาก็ตกแต่งลวดลายอย่างวิจิตรให้เข้ากับส่วนตัวและฐาน เรียกว่า ทรงเครื่อง
 ความสัมพันธ์กับชุมชน
   ฝีมือ แรงงาน คือ คนในชุมชนอย่างแท้จริง ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น จึงทำให้คนชุมชนมีความผูกพันกันเหมือนญาติพี่น้อง มีการรวมกลุ่มเตรียมสมาชิกให้ได้รับความรู้ทั้งด้านการปั้น การแกะ ตลอดจนการเผา และช่วยให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังสร้างความเข้าใจให้ตรงกันในการพัฒนาภูมิปัญญา

แหล่งการเรียนรู้เครื่องปั้นดินเผา : เป็นกิจการของครอบครัวชาวไทยเชื้อสายมอญครอบครัวหนึ่ง สร้างผลงานชิ้นใหญ่ๆได้สวยงาม สิ่งซึ่งแปลกตากว่าที่อื่นๆก็คือ ครอบครัวนี้ทำเครื่องปั้นดินเผาเป็นรูปและลวดลายตามศิลปะไทย    เช่น แกะสลักเครื่องปั้นดินเผาเป็นลายกนก โครงการหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOPได้จัดให้ที่แห่งนี้เป็นบ้านสาธิตการแกะสลักเครื่องปั้นดินเผา เตาเผาโบราณ: สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๐๐ เลิกใช้งานเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๐ ปัจจุบันเป็นซากเก่าแก่หักพัง นักท่องเที่ยวอยากเห็นและถ่ายภาพ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของอดีตซึ่งยังเหลือให้เห็นอยู่     เตาหลังเต่า: เป็นเตาซึ่งเคยใช้เผาเครื่องปั้นดินเผา สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๕ เลิกใช้งานเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๐ เรียกกันมาว่า เตาหลังเต่า เพราะหลังคาเตามีรูปร่างโค้งเหมือนหลังเต่า   ลานควาย: เป็นลานกว้าง ซึ่งจะมีการสาธิตการย่ำดิน เพื่อนำไปใช้ปั้นเครื่องปั้นดินเผา กระบวนการเป็นแบบดั้งเดิม คือคนควบคุมควายให้ย่ำดินก่อน แล้วจากนั้น คนจึงค่อยย่ำดินเกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยา  เกาะเกร็ด จึงมี จุดเด่น อย่างหนึ่งคือ มีทัศนียภาพที่สวยงาม ทางธรรมชาติ เกาะเกร็ด มีผู้คน อยู่อาศัยเป็นชุมชนมา ตั้งแต่สมัยอยุธยา และในวันนี้ เกาะเกร็ด ก็ยังคง ลักษณะชุมชน กึ่งเมืองกึ่งชนบทเอาไว้ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของ เกาะเกร็ด คือ เป็นชุมชนซึ่งติดต่อ กับชุมชนอื่นได้เฉพาะทางน้ำ





วัตถุดิบและส่วนประกอบ
๒.๑.๑ ดินเหนียว
๒.๑.๒ น้ำ
๒.๑.๓ เครื่องโม่ดิน
๒.๑.๔ จอบ เสียม หรือพลั่ว
๒.๑.๕ ตะแกรงร่อนดิน
๒.๑.๖ แป้นหมุน
๒.๑.๗ อุปกรณ์ในการแกะสลักลวดลาย เช่น สิ่วเล็บมือ ใบมีด เป็นต้น

ขั้นตอนการผลิต

   แต่เดิมก่อนที่จะมีเครื่องนวดดินหรือโม่ดินนั้นจะต้องมีกระบวนการหลายขั้นตอน ซึ่งต้องใช้ความอดทนอย่างยิ่ง เริ่มตั่งแต่ขุดดินขึ้นมากองตากแดดตากฝนไว้ประมาณ ๗ วัน ถ้าฝนไม่ตกก็ใช้วิธีรดน้ำให้ดินชุ่มตลอดเวลา เรียกว่า การหมักดิน จากนั้นจะนำเข้าไปเกลี่ยแผ่ในโรงปั้นที่โรยทรายรองพื้นไว้แล้วให้สูงประมาณ ๕๐-๖๐ เซนติเมตร จากนั้นใช้ควาย ๑ ตัว สลับกับคนเดินย่ำดิน (นวดดิน) โดยจะผูกควายไว้กลางโรงปั้นและให้เดินเป็นวงกลมๆ ไปรอบๆ ขณะที่ควายเดินจะต้องคอยโกยดินไม่ให้ไหลออกนอกรัศมีที่ควายเดิน และคอยเอาน้ำรดดินเพื่อให้ดินนิ่มผสมผสานกันได้ง่าย ไม่ติดขาควายทำให้ควายเดินได้สะดวก  นอกจากนี้จะต้องคอยนำถังไปรองมูลควายไม่ให้ตกลงบนดิน เพราะถ้ามูลควายตกลงไปในดินจะทำให้ซากวัชพืชที่มีอยู่ในมูลควายเข้าไปปนอยู่ในเนื้อดินที่จะใช้ปั้น ดารย่ำดินจะใช้เวลาประมาณ ๗ วัน วันละ ๒ ชั่วโมง  จากนั้นโกยดินที่ย่ำแล้วเป็นกองใหญ่ไว้มุมใดมุมหนึ่งในโรงปั้น หมั่นพรมน้ำและใช้ใบตองแห้งคลุมไว้เพื่อไม่ให้ดินแห้ง เมื่อต้องการใช้ดินก็จะใช้น้ำพรมกองดินมุมใดที่ต้องการให้เปียกแล้วใช้พลั่วไม้แซะดินออกเป็นแผ่นๆ นำไปรวมกันเป็นกองต่างหากและเพื่อให้ดินมีความเหนียวมากยิ่งขึ้นต้องแบ่งดินที่กองไว้ต่างหากออกเป็นกองย่อยๆแล้วใช้คนเหยียบดินนั้นให้เข้ากันและเหนียวยิ่งขึ้น โดยเหยียบกลับไปมา ๒-๓ ครั้ง เมื่อได้ที่แล้วจึงเหยียบเป็นกองกลมแบนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ เมตร สูงประมาณ ๕๐ เซนติเมตร เอาน้ำและทรายละเอียดสาดให้ทั่ว คลุมด้วยใบตองแห้ง ผู้เหยียบดินได้เหนียวและกองดินให้เป็นรูปวงกลมสวยเหมือนดอกไม้กลมขนาดใหญ่ถือว่าเป็นนักเหยียบดินฝีมือดี
         
เทคนิค/เคล็ดลับในการผลิต
   ดินที่ใช้เป็นดินเหนียวธรรมชาติที่มีสิ่งเจอปนน้อยมากๆ การเตรียมดินจะเตรียมอย่างพิถีพิถันโดยผ่านกระบวนการต่างๆจนได้เนื้อดินที่เหมาะแก่การนำไปปั้นเพื่อให้รูปทรงเครื่องปั้นเรียบเนียนสวยงาม
การเผานั้นใช้อุณหภูมิที่ ๘๐๐ องศาเซลเซียส จนได้เครื่องปั้นดินที่มีสีส้มและแกร่งตามลักษณะธรรมชาติส่วนเครื่องปั้นดินเผาสีดำจะใช้ขี้เลื่อยใส่ลงไปในกระถางที่มีชิ้นงานอยู่แล้วจึงนำเข้าเตาเผาเดียวกับการเผาให้ชิ้นงานเป็นสีแดง ส่วนการเผาสีเทาจะเผา ๒ รอบ ด้วยการนำเครื่องปั้นดินเผาสีแดงส้มไปใส่ในกระถางแล้วใส่ขี้เลื่อยลงไปชิ้นงานที่ได้ก็จะออกมาเป็นสีเทา

ลักษณะของเตาเผา
   เตาที่ใช้เผาเครื่องปั้นดินเผาของชาวมอญเกาะเกร็ดเดิมเป็นเตาขนาดใหญ่รูปร่างแบบเตาทุเรียงของสุโขทัย  เตาเผาชนิดนี้หลังคาเตาจะมีรูปโค้ง ชาวมอญจึงเรียกว่า เตาหลังเต่า  ปัจจุบันจะใช้เตารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหลังคาโค้ง ซึ่งชาวมอญเรียกว่า เตาจีน และใช้เตารูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดประมาณ ๑.๕๐*๑.๕๐ เมตร เรียกว่า เตาถัง การเผาแต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ ๗-๙ วัน

การตกแต่งลวดลาย
  การตกแต่งลวดลายด้วยวิธีต่างๆทำให้เกิดลวดลาย ๔ ประเภท คือ
๑.ลวดลายที่เกิดจากการใช้ของมีคมขูดขีด Incisored
๒.ลวดลายที่เกิดจากการฉลุ Porforated
๓.ลวดลายที่เกิดจากการแกะสลัก Carved
๔.ลวดลายที่เกิดจากการกดแม่ลายลงบนผิวภาชนะ Stamped
   
  
ในการทำให้เกิดลายประเภทนี้ชาวมอญเกาะเกร็ดนิยมใช้แม่ลายที่ทำจากหนามทองหลางป่าหรือจากวัสดุอื่นกดลงบนผิวของเครื่องปั้นตรงส่วนต่างๆ ที่ต้องการให้เป็นตำแหน่งของแม่ลายแล้วใช้มีดหรือไม้สำหรับสลักลายแกะลายประกอบกับแม่ลายเรียกว่า ผูกลาย  การทำจะต้องกะช่องไฟระหว่างแม่ลายกับแม่ลายให้พอเหมาะและเสมอกันตลอดลาย
   ลวดลายที่ใช้ตกแต่งบนผิวภาชนะดินเผาของชาวมอญเกาะเกร็ดส่วนใหญ่เป็นลายเกี่ยวกับธรรมชาติ เช่น ลายกลีบบัว ลาบใบไม้ ลายเครือเถา ลายดอกไม้ต่างๆ ลายพวงดอกไม้ ลายรูปสัตว์ นอกจากนั้นเป็นลายสร้อยคอ ลายเทพพนม ลายพวงมาลัย ลายฉลุโปร่ง สำหรับรูปทรงของเครื่องปั้นดินเผาประเภทสวยงามของชาวมอญเกาะเกร็ดเช่น กระปุก หม้อน้ำ โอ่งน้ำ และโอ่งพลู นิยมปั้นหลายทรง ได้แก่ ทรงหม้อน้ำก้นกลมคอสูง ทรงก้นกลม ทรงขวดโหล ทรงมะยม ทรงฟักทอง ทรงกระบอก ทรงโอ่งน้ำเอวคอด ทรงกลม
   การเตรียมดินปั้นเริ่มตั่งแต่การเลือกหาดินที่เหมาะสมดินที่ใช้ในการปั้นจะต้องเป็นดินเหนียวที่ไม่มีวัชพืชหรือกรวดทรายปน มีความเหนียวพอดี สีนวลหรือปนเหลืองหรือสีไม่ดำเกินไป เนื้อดินจับกันเป็นก้อนแน่นไม่ร่วนซุย ดินที่มีคุณภาพดีเช่นนี้เป็นดินที่มีอยู่ในเกาะเกร็ดนั่นเอง  ปัจจุบันดินเหล่านี้มีอยู่ตามที่นาหรือที่สวนแต่เจ้าของดินมักจะไม่ขายให้แก่ช่างปั้น ช่างปั้นต้องซื้อดินจากที่อื่น เช่น ดินฝั่งตรงข้ามเกาะเกร็ดซึ่งมีคุณภาพใกล้เคียงหรือดินบริเวณจังหวัดปทุมธานี ซึ่งจะต้องหาซื้อในช่วงปลายฤดูฝนประมาณเดือน ๑๑ เพราะจะได้ดินที่อุ้มน้ำฝนไว้ทำให้เนื้อดินไม่แข็ง
   จากการสัมภาษณ์ปราชญ์ท้องถิ่น นาง อรุณศรี ฤทธิ์เดช เกี่ยวกับการทำเครื่องปั้นดินเผาที่ชุมชนเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ว่าปัจจุบันในชุมชนมีศูนย์การเรียนรู้การทำเครื่องปั้นดินเผาอยู่ ๓ ศูนย์ แต่มีที่ศูนย์บ้านนาง อรุณศรี ฤทธิ์เดชที่เดียวที่ยังใช้เตาเผาแบบโบราณและมีวิธีการปั้นที่ยังคงเป็นแบบโบราณ ส่วนใหญ่คนที่เป็นช่างปั้นและแกะสลักลายที่อยู่ในศูนย์จะเป็นญาติพี่น้องกันทั้งหมด  และตอนนี้ช่างแกะสลักลายที่มีฝีมือส่วนใหญ่เป็นคนชราไปหมดแล้ว



  
        
  
   
ขอขอบคุณ
แหล่งการเรียนรู้เครื่องปั้นดินเผา ตำบลเกาะเกร็ด โดย กศน.ปากเกร็ด
นาง อรุณศรี   ฤทธิ์เดช     ปราชญ์ท้องถิ่น

หมู่ที่ ๖ ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี